Molotov, Vyacheslav Mikhaylovich (1890-1986)

นายเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (๒๔๓๒-๒๕๒๙)

​​
     เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ เป็นนายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๕๓ ก่อนการก้าวสู่อำนาจทางการเมือง เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์และแกนนำคนหนึ่งของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Workers’ Party - RSDLP)* หรือพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังรัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมโมโลตอฟได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ยูเครน (Ukrainian Communist Party) ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และในปีต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ในช่วงที่วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ล้มป่วย และปัญหาการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคเริ่มก่อตัวขึ้น โมโลตอฟร่วมมือกับโจเซฟ สตาลิน(Joseph Stalin)* เลขาธิการพรรคในการกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและประสบความสำเร็จในการขับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ออกจากพรรคในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๘ โมโลตอฟได้ชื่อว่าเป็นสหายสนิทและมือขวาของสตาลิน เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๙ และ ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๕๖ เขามีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และในระหว่างสงครามเย็น (Cold War)*สตาลินชื่นชมและไว้วางใจโมโลตอฟมาก เขากล่าวว่าหากโมโลตอฟไม่มีตัวตนจริงก็จำเป็นต้องสร้างเขาขึ้นมา
     โมโลตอฟมีชื่อจริงว่า เซรีบีเน (Seribine) เกิดในครอบครัวชาวนาที่มั่งคั่ง เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๙๐ ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อคูคารา (Kukara) ในจังหวัดเวียตคา (Viatka) ทางรัสเซียตอนกลาง ครอบครัวสนับสนุนบุตรทุกคนให้ได้รับการศึกษาระดับสูง โมโลตอฟและพี่น้องถูกส่งไปเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดในเมืองและเขาสนใจเรียนดนตรีจนสามารถเล่นไวโอลินได้เก่งตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ครอบครัวส่งเขาไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่เมืองคาซาน (Kazan) ในคืนก่อนการเดินทางไม่กี่วัน ชาวนาในหมู่บ้านใกล้เคียงก่อการจลาจลเผาคฤหาสน์และปล้นเจ้าที่ดินที่หน้าเลือดและทารุณ เหตุการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้โมโลตอฟเริ่มสนใจปัญหาทางการเมืองและสังคม
     ข่าวการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ซึ่งเกิดขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทำให้กรรมกรที่เมืองคาซานก่อการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานด้วย โมโลตอฟเข้าร่วมในกิจกรรมของกรรมกรและมีโอกาสพบกับวาสเนซอฟ (Vasnetsov) ปัญญาชนปฏิวัติซึ่งเป็นน้องชายของศิลปินที่มีชื่อเสียงในจังหวัดบ้านเกิดของเขา วาสเนซอฟแนะนำเขาให้อ่านแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ซึ่งทำให้โมโลตอฟยอมรับแนวทางปฏิวัติของลัทธิมากซ์ ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เขาเข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียโดยเลือกสนับสนุนพรรคบอลเชวิคของเลนิน เขาและวลาดีมีร์ ตีโฮมีนอฟ (Vladimir Tikhominov) เพื่อนสนิทร่วมกันทำงานโฆษณาปฏิวัติในโรงเรียนและเคลื่อนไหวจัดตั้งกรรมกรในเขตโนลินสค์ (Nolinsk) ในการปฏิงานปลุกระดมทางการเมืองดังกล่าว เขาใช้นามแฝงหรือชื่อจัดตั้งว่า "โมโลตอฟ" ซึ่งหมายถึง "ค้อน" ชื่อดังกล่าวในเวลาต่อมากลายเป็นชื่อตัวที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีมากกว่าชื่อจริง
     ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๙ โมโลตอฟถูกจับด้วยข้อหาปลุกระดมทางการเมืองและถูกตัดสินเนรเทศไปไซบีเรีย ๒ ปี ซึ่งเป็นโทษสถานเบาเนื่องจากเขามีอายุน้อยและศาลเห็นว่าเขาอาจกลับตัวได้ ในปลาย ค.ศ.๑๙๐๙ เขาถูกย้ายไปที่จังหวัดโวลอกดา (Vologda) ซึ่งไม่ห่างจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเท่าใดนัก ในระหว่างการต้องโทษ เขาอ่านและศึกษาความรู้ด้วยตนเองและสามารถสอบผ่านระดับมัธยมปลายได้ ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวปลุกระดมกรรมกรรถไฟตามโอกาสและเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย เมื่อพ้นโทษใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เขาย้ายไปอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเข้าเรียนต่อที่สถาบันโปลิเทคนิคแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.๑๙๑๒ เขามีโอกาสพบกับโจเซฟ สตาลินซึ่งหลบหนีการติดตามของตำรวจมาเช่าห้องพักในบ้านของป้าโมโลตอฟคนทั้งสองกลายเป็นเพื่อนกันและมิตรภาพดังกล่าวยืนยาวตลอดชีวิต
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ องค์การพรรคในประเทศส่งโมโลตอฟไปพบกับเลนินที่กรุงลอนดอน เลนินมีนโยบายให้องค์การพรรคในประเทศส่งผู้ปฏิบัติงานพรรคที่เอาการเอางานมาพบเขานอกประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสริมสร้างประสบการณ์ เมื่อกลับมายังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โมโลตอฟได้เตรียมการออกหนังสือพิมพ์การเมืองของพรรคบอลเชวิค ๒ ฉบับคือ Zvezda (The Star) กับ Pravda (Truth) ตามที่ได้รับมอบหมาย เขายังทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Pravda และช่วยงานของสมาชิกบอลเชวิคในสภาดูมา (Duma)* ด้วย เมื่อสตาลินและยาคอฟ สเวียร์ดลอฟ (Yakov Sverdlov)* บรรณาธิการบริหาร Pravda ถูกจับและถูกเนรเทศไปไซบีเรีย โมโลตอฟรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการแทนจนถึงต้นฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๑๔
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้น โมโลตอฟสนับสนุนกลุ่มสังคมนิยมที่เป็นกลางเคลื่อนไหวคัดค้านสงคราม ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาถูกจับที่นครมอสโกในขณะกำลังปลุกระดมกรรมกรให้รวมตัวกันต่อต้านสงครามและชี้แนะยุทธวิธีการปลุกระดมโฆษณา ในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน เขาถูกเนรเทศไปอยู่ที่หมู่บ้านมันซูร์คา (Manzurka) จังหวัดอีร์คุตสค์ (Irkutsk) ในไซบีเรียตะวันออก แต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาสามารถหลบหนีและเดินทางกลับมากรุงเปโตรกราด ทั้งได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคแห่งเปโตรกราด หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ โมโลตอฟได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำหนังสือพิมพ์ Pravda ซึ่งปิดตัวลงในช่วงต้นของสงครามขึ้นอีกครั้งหนึ่งเขารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการจนถึงกลาง ค.ศ. ๑๙๑๗ โดยสตาลินซึ่งหนีจากไซบีเรียได้มารับช่วงเป็นบรรณาธิการต่อโมโลตอฟสนับสนุนแนวทางของเลนินที่เขียนไว้ในนิพนธ์เดือนเมษายน (April Thesis) ด้วยการต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งมีเจ้าชายเกออร์กี ลวอฟ (Georgy Lvov)* เป็นผู้นำและเรียกร้องการคืนอำนาจรัฐทั้งหมดให้แก่สภาโซเวียต ต่อมาเขาได้รับเลือกเป็นคณะกรรมาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการเปโตรกราดโซเวียตซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเตรียมการลุกฮือด้วยอาวุธเพื่อยึดอำนาจทางการเมืองในการปฏิวัติเดือนตุลาคมเมื่อ ค.ศ ๑๙๑๗
     แม้โมโลตอฟจะมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับว่าเขาเป็นผู้ปฏิบัติงานพรรคที่ดีเด่น มีระเบียบวินัย และ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เขาก็ไม่ใช่นักพูดที่เก่งเป็นคนดื้อดึงและไม่ชอบสังคม ทั้งงุ่มง่ามและขาดบุคลิกภาพที่ประทับใจสาธารณชน นอกจากนี้เขายังไม่ชอบที่จะตัดสินปัญหาด้วยตนเอง ทั้งเป็นคนที่อยู่ในกรอบของกฎระเบียบ เขาจึงไม่เคยคาดหวังว่าจะได้ก้าวสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในองค์การพรรคและรัฐ โมโลตอฟจึงมีสมญาที่รู้จักกันทั่วไปว่า "เจ้าทึ่ม" ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาได้รับแต่งตั้งให้ดูแลเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาถูกส่งไปยังภูมิภาคโวลกาเพื่อควบคุมการบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางเครือข่ายงานของพรรค โมโลตอฟเห็นว่าแนวทางปฏิรูปที่เบี่ยงเบนจากนโยบายพรรคเป็นอันตรายเขาจึงพยายามสร้างระบบเผด็จการพรรคที่สามารถประสานงานกับองค์การท้องถิ่นต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น
     ในช่วงสงครามกลางเมืองและการดำเนินนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม(War Communism)* โมโลตอฟมีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมโฆษณามวลชนให้เชื่อมั่นในแนวนโยบายของบอลเชวิคและอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เขาร่วมเดินทางไปกับเลนินและนาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา ครุปสกายา (Nadezhda Konstantinovna Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนินอีกทั้งแกนนำพรรคคนอื่น ๆ โดยการโดยสารเรือกลไฟชื่อ "The Red Star" ล่องไปตามแม่น้ำวอลกา (Volga) เพื่ออธิบายลัทธิมากซ์และการก่อตั้งรัฐโซเวียตให้แก่ชาวนาที่เมืองเปิร์ม (Perm) นิจนีนอฟโกรอด (Nizhni Novgorod) และคาซาน บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการของพรรคคอมมิวนิสต์ยูเครนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ ในการเดินทางไปรับตำแหน่งที่ยูเครน โมโลตอฟได้พบรักกับพอลีนา เซมีโอโนวา คาร์ปอฟสกายา (Polina Semionova Carpovskaya) กรรมกรหญิงโรงงานน้ำตาลซึ่งมีเชื้อสายยิว คนทั้งสองแต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๙๒๑ โดยมีสตาลินเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว สตาลินในเวลาต่อมามักข่มขู่โมโลตอฟในประเด็นความสัมพันธ์กับยิวซึ่งทำให้โมโลตอฟต้องยอมเป็นเบี้ยล่างของสตาลิน
     หลังอสัญกรรมของเลนินในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ สตาลินซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคจึงแต่งตั้งโมโลตอฟ คลีเมนต์ โวโรชีลอฟ (Kliment Voroshilov) และมีฮาอิล อีวาโนวิช คาลีนิน (Mikhail Ivanovich Kalinin)* เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคและโปลิตบูโรเพื่อให้คนทั้งสามคานอำนาจกับกลุ่มฝ่ายค้านที่ต้องการโค่นอำนาจสตาลินซึ่งประกอบด้วย กรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* เลฟ โบรีโซวิช คาเมเนฟ (Lev Borisovich Kamenev)* และเลออน ตรอตสกีการดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จเพราะตรอตสกีถูกขับออกจากพรรคใน ค.ศ. ๑๙๒๘ และสมาชิกกลุ่มฝ่ายค้านถูกกวาดล้าง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙สตาลินปลด นีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* จากตำแหน่งประธานองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* และแต่งตั้งโมโลตอฟให้ดำรงตำแหน่งแทน ในปีรุ่งขึ้นสตาลินยังแต่งตั้งโมโลตอฟให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งดังกล่าวตราบจนสตาลินถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๙๕๓ โมโลตอฟจึงเป็นผู้นำประเทศอันดับ ๒ รองจากสตาลินและทำงานใกล้ชิดกับสตาลิน นอกจากนี้เขายังย้ายมาพักที่พระราชวังเครมลินในบริเวณเดียวกันกับสตาลินด้วย ทั้งได้รับอนุญาตจากสตาลินให้ร่วมแสดงความคิดเห็นและกำหนดแนวนโยบายในการประชุมสั้น ๆ ของฝ่ายบริหารที่มีขึ้นทุกเช้าที่บ้านพักสตาลิน
     เมื่อสตาลินยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy - NEP)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ โดยหันหน้ามาใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five-YearPlan)* ฉบับที่ ๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๒ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโซเวียตเป็นระบบสังคมนิยมโมโลตอฟมีบทบาทสำคัญในการควบคุมเรื่องการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) ซึ่งแบ่งออกเป็นนารัฐ (state farms) และนารวม (collective farms) เขายังชี้นำการต่อสู้ในการกำจัดชาวนารวยหรือพวกคูลัค (kulaks) ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของรัฐบาลโซเวียต ขณะเดียวกันโมโลตอฟก็ช่วยสร้างระบบเครือข่ายงานของตำรวจลับเพื่อสอดส่องและควบคุมกิจกรรมของสมาชิกพรรคและประชาชน ในช่วงที่สตาลินดำเนินการกวาดล้างใหญ่ (Great Purges) และกำจัดกลุ่มสมาชิกพรรคบอลเชวิครุ่นแรก (Old Bolsheviks) โมโลตอฟเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคจำนวนน้อยคนที่ไม่ถูกกำจัดเพราะเขาภักดีต่อสตาลินและไม่เคยท้าทายอำนาจสตาลินต่อมา เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๙สตาลินแต่งตั้งโมโลตอฟเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนมักซิม ลิวีนอฟ (Maksim Litvinov)* ซึ่งถูกปลดเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับยิวและอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซี ไม่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย
     การขยายอำนาจของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ในเยอรมนีซึ่งรู้จักกันในชื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมเยอรมันหรือนาซี (National Socialist German Workers' Party; Nazi)* ทำให้โมโลตอฟเห็นความจำเป็นที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตกและขณะเดียวกันก็เจรจาลับกับพรรคนาซีเพื่อทำความตกลงร่วมกัน ฮิตเลอร์ซึ่งไม่ต้องการเปิดศึกสองด้านในสงครามที่จะเกิดขึ้นจึงพร้อมที่จะตกลงกับสหภาพโซเวียตและนำไปสู่การลงนามกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Non-agression Pact)* หรือที่เรียกกันว่า กติกาสัญญาริบเบนทรอป-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เคานต์โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอป (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันยังทำความตกลงลับกับสตาลินที่กรุงมอสโกในการจะแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีในยุโรปโดยสหภาพโซเวียตจะได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของโปแลนด์ตะวันออก ฟินแลนด์ และรัฐบอลติก (Baltic States)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ โมโลตอฟก็เดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลินเพื่อเจรจาตกลงกับเยอรมนีเกี่ยวกับการรบระหว่างรัสเซียกับฟินแลนด์ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐) ซึ่งสหภาพโซเวียตต้องการบีบบังคับให้ฟินแลนด์ยอมรับสนธิสัญญาสงบศึกที่ให้ประโยชน์แก่สหภาพโซเวียตโดยเยอรมนีจะไม่ขัดขวาง
     อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตเพื่อหวังชัยชนะที่ จะกอบกู้เชื่อเสียงของเยอรมนีจากความพ่ายแพ้ในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* แม้หน่วยข่าวกรองโซเวียตจะเตือนสตาลินให้ทราบถึงแผนการบุกดังกล่าวแต่เขาปฏิเสธที่จะเชื่อและทำให้สหภาพโซเวียตตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในช่วงแรก ๆ ของสงคราม สตาลินแต่งตั้งคณะกรรมาธิการป้องกันสงครามขึ้นโดยมีโมโลตอฟเป็นรองประธานที่ขึ้นตรงต่อสตาลินเพียงผู้เดียว ขณะ เดียวกันสตาลินก็แต่งตั้งลัฟเรนตี ปัฟโลวิช เบเรีย (Lavrenty Pavlovich Beria)* เป็นหัวหน้าตำรวจลับและเกออร์กี มาเลนคอฟ (Georgi Malenkov)* เป็นหัวหน้าพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ โมโลตอฟเดินทางไปกรุงลอนดอนและประสบความสำเร็จในการเจรจาทำความตกลงร่วมกันกับอังกฤษในสนธิสัญญาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทหาร จากนั้นเขาเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อพบกับประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) และทำความตกลงทางทหารร่วมกันในการจะจัดตั้งแนวรบที่ ๒ ขึ้นในยุโรปโดยฝ่ายพันธมิตรเป็นผู้นำซึ่งสหภาพโซเวียตคาดหวังว่าแนวรบดังกล่าวจะมีส่วนทำให้เยอรมนีต้องถอนกำลังออกจากการโจมตีสหภาพโซเวียต ต่อมา ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ โมโลตอฟได้หารือร่วมกับรอเบิร์ต แอนโทนีอีเดน (Robert Anthony Eden)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ และคอร์เดลล์ ฮัลล์ (Cordell Hull) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่กรุงมอสโกเกี่ยวกับการจัดประชุมครั้งแรกของผู้นำประเทศพันธมิตร การหารือครั้งนี้ได้นำไปสู่การประชุมเตหะราน (Teharan Conference)* ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ของผู้นำประเทศมหาอำนาจพันธมิตรเกี่ยวกับนโยบายสงครามและอนาคตของยุโรป โมโลตอฟได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย รวมทั้งในการประชุมดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks Conference ค.ศ. ๑๙๔๔)* การประชุมยัลตา (Yalta Conference ค.ศ. ๑๙๔๕)* และการประชุมที่พอทสดัม (Potsdam Conference ค.ศ. ๑๙๔๕)*
     ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ โมโลตอฟมีบทบาทสำคัญในการเสนอความคิดเรื่องการแบ่งโลกออกเป็น ๒ ค่าย เขาพยายามโน้มน้าวสตาลินไม่ให้โอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกาในการประชุมที่ยัลตา ค.ศ. ๑๙๔๕ ในการประชุมจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ที่นครซานฟรานซิสโกโมโลตอฟก็กล่าวถึงเรื่องระบบสองโลกคือระบบทุนนิยมกับระบบสังคมนิยมอย่างดุเดือด ทั้งปฏิเสธที่จะสนับสนุนเอดเวิร์ด สเตตทินเนียส (Edward Stettinius) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานถาวรของที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ ตลอดจนคัดค้านไม่ให้ฝรั่งเศสและจีนได้อำนาจยับยั้ง (veto power) ต่อมาเขายังคัดค้านไม่ให้เนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียเข้าร่วมในการประชุมสันติภาพที่ กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ด้วย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๖-๑๙๔๗ โมโลตอฟมีส่วนทำให้เกิดบรรยากาศอันตึงเครียดในความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกด้วยการกล่าวสุนทรพจน์หลายครั้งในที่ต่าง ๆ ในหัวข้อ "ถนนทุกสายนำไปสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์" (All Roads Lead to Communism) เขายังสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตที่จะสร้างความตึงเครียดของสภาวการณ์ที่เรียกว่าสงครามเย็นใน ค.ศ. ๑๙๔๘ โมโลตอฟสนับสนุนสหภาพโซเวียตในการปิดกั้นเบอร์ลิน(Berlin Blockade)* เพื่อบีบบังคับมหาอำนาจตะวันตกให้ละทิ้งกรุงเบอร์ลินเป็นการถาวรและเพื่อทดสอบพลังของมหาอำนาจตะวันตกในสงครามเย็นขณะเดียวกันเขาก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง เอกราชของประเทศอาณานิคมต่าง ๆ เช่น ในอินโดนีเซีย มลายา และพม่าด้วย
     อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ เป็นต้นมา โมโลตอฟไม่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนโซเวียตและหมดบทบาททางการเมืองไปอย่างเงียบ ๆ ในเดือนกันยายนทางการโซเวียตประกาศว่าเขาพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับอะนัสตัส มีโคยัน (Anastas Mikoyan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีใครทราบสาเหตุที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสิ้นอำนาจของโมโลตอฟ แม้เขาจะยังคงเป็นสมาชิกโปลิตบูโร แต่ก็แทบจะไม่มีบทบาทอีก เมื่อสตาลินถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ มีโมโลตอฟเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ควบคุมอารมณ์เศร้าโศกไว้ไม่ได้ในขณะที่กล่าวคำอาลัยในงานรัฐพิธีศพสตาลิน
     เมื่อนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๕๓ โมโลตอฟกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งเพราะครุชชอฟต้องการให้เขามาช่วยคานอำนาจของเบเรีย แต่เมื่อครุชชอฟเริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-stalinization)* และปรับความสัมพันธ์กับยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Brez; Tito)* ประธานาธิบดีแห่งยูโกสลาเวีย โมโลตอฟไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวและเขาปฏิเสธที่จะเดินทางไปเยือนกรุงเบลเกรด (Belgrade) กับครุชชอฟในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๕ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๕๕ โมโลตอฟเป็นผู้แทนสหภาพโซเวียตในการลงนามสนธิสัญญารัฐออสเตรีย (Austrian State Treaty)* โดยยอมรับเอกราชและความเป็นกลาง ของออสเตรีย ในช่วงเวลาเดียวกันเขาก็ร่วมลงนามกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact)* อย่างไรก็ตาม ครุชชอฟซึ่งไม่พอใจโมโลตอฟได้หาทางกำจัดเขาออกจากอำนาจ ในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๕๕ หนังสือพิมพ์ Pravda วิพากษ์โจมตีโมโลตอฟอย่างรุนแรงเนื่องจากเขากล่าวว่าระบบสังคมนิยมไม่เคยดำรงอยู่ในสหภาพโซเวียต อีก ๑ เดือน ต่อมาโมโลตอฟก็ทำจดหมายเปิดผนึกพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Turd เกี่ยวกับระบอบสังคมนิยมโซเวียตโดยเขายอมรับผิดว่าเขาขาดความเข้าใจทางด้านทฤษฎีและความเข้าใจที่ผิดพลาดของเขาก็เป็นอันตรายทางการเมือง ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๕๖ โมโลตอฟถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและดิมีตรี เชปิลอฟ (Dmitri Shepilov) ซึ่งสนับสนุนครุชชอฟได้เข้าดำรงตำแหน่งแทน การปลดโมโลตอฟครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตีโตขอให้ครุชชอฟดำเนินการเนื่องจากโมโลตอฟเคยขับยูโกสลาเวียออกจากองค์การโคมินเทิร์นใน ค.ศ. ๑๙๔๘
     หลังเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ค.ศ. ๑๙๕๖ โมโลตอฟร่วมมือกับเกออร์กี มาเลนคอฟ และลาซาร์ คากาโนวิช (Lazar Kaganovich) เคลื่อนไหวโค่นอำนาจครุชชอฟ แต่ประสบความล้มเหลว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๗ ครุชชอฟขับโมโลตอฟและแกนนำพรรคที่ร่วมมือกับเขาอีก ๖ คน ออกจากพรรคด้วยข้อหาคบคิดกันบั่นทอนความมั่นคงของพรรค กลุ่มของโมโลตอฟในเวลาต่อมาก็ได้ชื่อว่าเป็น "กลุ่มต่อต้านพรรค" (Anti-party group) แต่เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาและต่อสู้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตนอย่างเด็ดเดี่ยว ต่อมาโมโลตอฟจึงถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำมองโกเลียนอก (Outer Mongolia) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๐ ใน ค.ศ. ๑๙๖๐ เขาเป็นผู้แทนสหภาพโซเวียตเข้าร่วมประชุมหน่วยงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ที่กรุงเวียนนาและเป็นการปรากฏตัวครั้งสุดท้ายของเขาต่อสาธารณชนและเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ เขาถูกขับออกจากพรรคและจากนั้นก็ไม่มีข่าวและเรื่องราวของโมโลตอฟอีกเลย
     ในปลายสมัยประธานาธิบดีเลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตที่ ภักดีต่อสตาลิน โมโลตอฟได้รับการกอบกู้ชื่อเสียงกลับคืนใน ค.ศ. ๑๙๘๐ ขณะมีอายุ ๙๐ ปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีข่าวเกี่ยวกับเขาอีก ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๖ สื่อมวลชนโซเวียตตีพิมพ์ข่าวสั้น ๆ เรื่องการเสียชีวิตของเขาซึ่งแทบจะไม่มีสมาชิกพรรคคนใดใส่ใจและติดตามข่าว โมโลตอฟถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัยชราที่บ้านพัก ณ เปเรเดลคีโน (Peredelkino) บริเวณชานกรุงมอสโก เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๖ ขณะอายุได้ ๙๖ ป



คำตั้ง
Molotov, Vyacheslav Mikhaylovich
คำเทียบ
นายเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ
คำสำคัญ
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- มีโคยัน, อะนัสตัส
- เบลเกรด, กรุง
- บรอซ, ยอซีป หรือตีโต
- เบเรีย, ลัฟเรนตี ปัฟโลวิช
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- การประชุมที่ยัลตา
- การประชุมที่เตหะราน
- การประชุมที่พอทสดัม
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์
- โวโรชีลอฟ, เคลเมนต์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- ริบเบนทรอพ, เคานต์โยอาคิม ฟอน
- ลัทธิฟาสซิสต์
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- บูฮาริน, นีโคไล อีวาโนวิช
- คาลีนิน, มีฮาอิล อีวาโนวิช
- โคมินเทิร์น
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป
- คาร์ปอฟสกายา, พอลีนา เซมีโอโนวา
- คาเมเนฟ, เลฟ โบรีโซวิช
- สภาดูมา
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- อีร์คุตสค์, จังหวัด
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- วอลกา, แม่น้ำ
- สเวียร์ดลอฟ, ยาคอฟ
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- ลวอฟ, เกออร์กี, เจ้าชาย
- นิจนีนอฟโกรอด
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- ครุปสกายา, นาเดจดา คอนสแตนตินอฟนา
- สงครามเย็น
- โวลอกดา, จังหวัด
- สตาลิน, โจเซฟ
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- เลนิน, วลาดีมีร์
- เวียตคา, จังหวัด
- มากซ์, คาร์ล
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- โนลินสค์, เขต
- คาซาน, เมือง
- ตีโฮมีนอฟ, วลาดีมีร์
- ตรอตสกี, เลออน
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- พรรคบอลเชวิค
- รูสเวลต์, แฟรงกลิน ดี.
- รัฐบอลติก
- สเตตทินเนียส, เอดเวิร์ด
- องค์การสหประชาชาติ
- ฮัลล์, คอร์เดลล์
- กติกาสัญญาวอร์ซอร์
- อีเดน, รอเบิร์ต แอนโทนี
- การปิดกั้นเบอร์ลิน
- กลุ่มต่อต้านพรรค
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- เชปิลอฟ, ดิมีตรี
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- คากาโนวิช, ลาซาร์
- ตีโต
- นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1890-1986
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๓๒-๒๕๒๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf